top of page

DOMINO EFFECT




Artit Vongmetta (Jack) Head of Sound department


หนอนหนังสือที่เริ่มทำงานวงการเสียงในฐานะมือขวาของพ่อ ที่เป็นนักจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่งลูกกรุง ก่อนจะได้ลองงานเกี่ยวกับเสียงหลายๆ อย่าง ตั้งแต่แบกหามลำโพงไปจนถึงทำซาวนด์ให้ละครเวที เพื่อพบว่าตัวเองชอบทำงานในสตูดิโอมากที่สุด



 

ฟัง > พูด “มันจะมีเหตุการณ์ที่ทุกคนในห้องเถียงกันแล้วหาจุดที่ลงตัวไม่ได้ แล้วจะมีลูกค้าบางคนพูดขึ้นมาว่า ‘ไหนลองให้พี่ Sound Engineer พูดดูสิว่าเขาคิดเห็นยังไง’ ถ้าเจอแบบนี้เราจะทำตัวไม่ถูกเลย ถ้าถามว่าเสียงนี้ดีหรือเสียงนี้ไม่ดี ตอบได้ อันนี้อยู่ตรงนั้นดีไหม อันนั้นอยู่ตรงนี้ดีไหม ตอบได้ แต่ถ้าถามว่า ‘พี่ว่าสคริปต์มันพูดอย่างนี้ดี หรืออย่างนั้นดีกว่า’ เราตอบไม่ได้ ที่ตอบไม่ได้ไม่ใช่เพราะว่าไม่กล้าตอบนะ ตอบไม่ได้เพราะมันไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเรา แม้จะรู้ว่าตอบไปเขาอาจจะไม่ฟังเราก็ได้ เราตอบไม่ถูกว่าอะไรจะดีสำหรับโฆษณาตัวนี้ เพราะทุกอย่างในโฆษณาสำคัญหมด สุดท้ายสิ่งที่เราจะตอบคือ ‘อ๋อ ผมอคติแล้วพี่ ผมฟังมาเป็นร้อยรอบ ผมแยกไม่ออกแล้ว’ เป็นการเอาตัวรอดในทุกจ๊อบ ทุกกรณี”


ถ้าต้องบอกว่าคุณค่าของงานที่เราทำอยู่ตรงไหน คือเสียงเวลามันมีอยู่ เราไม่รู้สึกหรอก แต่ลองนึกถึงเวลาไม่มีเสียงสิ คุณค่ามันอยู่ตรงนี้แหละ

Domino Effect “ทุกครั้งที่เรานั่งอยู่บนเก้าอี้ทำงาน ลูกค้าเดินเข้ามาในห้อง แล้วกดปุ่ม Play มันคือการเอางานไปขายให้เขาและเตรียมรับคอมเมนต์โดยไม่ต้องถาม ได้รู้ความคิดเห็นเขาเลยว่า ดี โอเค ไม่ดีว่ะ หรือเฉยๆ แต่ลูกค้าเราน่ารักทุกคน เขาจะไม่เสียมารยาทกับเรา และเราก็ไม่เสียมารยาทกับเขา เราจะไม่พูดว่าหนังไม่เห็นดีเลย เพราะมันไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่เราคือทำให้มันดีด้วยเสียง วันที่มีขายงานเลยเหมือนการเอาตัวเองไปอยู่บนเขียงทุกวัน" “งานโฆษณามันเหมือน Domino Effects ผู้ช่วยเราส่งงานให้เราก่อน แล้วเราถึงไปเจอผู้กำกับ ผู้กำกับไปเจอเอเจนซี่ เอเจนซี่ไปเจอลูกค้า มันเป็นการขายงานหลายขั้น ซึ่งจริงๆ ถ้ามองทางกลับ มันสามารถสะท้อนไปสู่ตัวผู้ช่วยเราที่เป็นคนเตรียมงานได้ ตอนที่เราเป็นผู้ช่วยเราไม่ได้เห็นภาพแบบนี้ แต่พอได้เจอกับลูกค้าเราถึงเพิ่งเห็นว่าคอมเมนต์จากปลายทาง มันย้อนกลับมาที่สิ่งที่ทำในตอนแรก เวลาเตรียมงานเราเลยจะไม่กั๊ก กั๊กคือเลือกเสียงที่เซฟๆ เสียงนี้ขายผ่านแน่นอน แต่เราจะทำออปชั่นเผื่อไว้ แล้วขายอันที่เราชอบสุดก่อน” ส่วนประกอบที่มองไม่เห็น “มันมีหนังเรื่องหนึ่งของพี่น้องโคเอน (Ethan Coen และ Joel Coen) ชื่อ Barton Fink (1991) ที่เปิดโลกเรามาก เราไปประทับใจเสียงเปิดปิดประตูของหนังเรื่องนี้ เสียงนี้เป็นคาแรคเตอร์ที่ทำให้เราจำได้ เลยตั้งใจอยากทำผลงานอย่างนั้นให้ได้ แต่ถามว่าถ้าไม่สังเกตจะรู้สึกได้ถึงเสียงปิดเปิดประตูหรือเปล่า ไม่รู้สึก เพราะเราจะไหลไปกับหนัง สนุกไปกับหนังจนลืมไปว่าเรากำลังพยายามฟังอะไรอยู่ “เหมือนกัน ถ้าต้องบอกว่าคุณค่าของงานที่เราทำอยู่ตรงไหน คือเสียงเวลามันมีอยู่ เราไม่รู้สึกหรอก แต่ลองนึกถึงเวลาไม่มีเสียงสิ คุณค่ามันอยู่ตรงนี้แหละ”



bottom of page